AI ช่วยงาน PR ได้อย่างไรบ้าง

Share on

ตั้งแต่ ChatGPT ของบริษัท OpenAI เปิดตัวขึ้นมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 คำว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ทุกคนรู้จักในภาพจางๆ ก็กลายเป็นภาพที่เด่นชัดขึ้น ซ้ำยังกลายเป็นกระแสที่ทุกคนพูดถึงในทุกวงการ พวกเราเองที่ Moonshot ก็สนุกกับการหยิบเอา AI มาทดลองใช้ในงาน PR จริงในหลายๆ ทาง วันนี้ (ณ วันที่ 12 กันยายน 2024) พวกเราเลยรวบรวมสิ่งที่พวกเราใช้ AI ในการทำงานมาแชร์กัน เผื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ในแวดวง PR ครับ

คำออกตัว: บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อรวบรวมกรณีศึกษาแบบการลงมือทำจริงใน Operation ที่เหมาะกับคนทำงาน PR เท่านั้น พวกเราตั้งใจว่าจะมาอัปเดตข้อมูลที่บล็อกนี้อยู่เรื่อยๆ ตามพัฒนาการของ AI ที่จะออกมาเรื่อยๆ

ช่วยวางแผน

แผนที่ดีเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งการมองแบบป่าทั้งป่า ไม่ใช่เพียงต้นไม้ต้นเดียว ในขณะเดียวกันก็ต้องละเอียดในการตั้งคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องจนกลายเป็น Actionable insights ที่ประกอบในแผน AI อาจจะไม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้ได้ ณ วันนี้ยังไงก็ต้องใช้คน แต่มันช่วยเราได้ในหลายเรื่อง เช่น

  • ใช้ถามเป็นแนวทางในการทำแผน ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าอยู่ในระดับ ‘พอใช้ได้’ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรายละเอียดในการ prompt หรือการสั่งงาน
  • ช่วยตบความคิดไอเดีย หรือให้ไกด์ไลน์เวลาทำแผน
  • ช่วยทำ Segmentation
  • ช่วยสร้าง Persona ให้ Target
  • ใช้ทำ Market analysis รวบรวม trends ที่น่าสนใจในปีนี้ใน market ที่เราสนใจเพื่อหยิบมาเป็นแง่มุมในการนำเสนอ หรือแม้กระทั่งมองหาโอกาสให้แบรนด์
  • ช่วยโยนไอเดียระดมสมอง เช่น ปรับคำ big idea ที่น่าสนใจ ช่วยเขียนคำบรรยายไอเดียให้ปังขึ้น
  • ช่วยเสนอ tactics ใหม่ๆ ของงาน PR ที่เหมาะกับแผนและโจทย์ของเรา
  • ช่วยเป็นลูกมือในการรวบรวมข้อมูล

ช่วยเขียน

สิ่งสำคัญของคนทำงาน PR คือการเขียน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข่าว ไม่ว่าจะเป็นการเขียนประกอบการนำเสนอบน PowerPoint หรือ Keynote เราสามารถใช้มันได้หลายแบบ เช่น

  • ช่วยคิดประเด็นข่าว ว่าจะนำไอเดียหลักของเรากระจายไปยังสื่อสายต่างๆ ได้อย่างไร เช่น เราคิดประเด็นข่าวธุรกิจเสร็จแล้ว แต่ถ้าหากว่าเราต้องการกระจายไอเดียออกไปในสื่อไลฟ์สไตล์ เราจะแปรประเด็นเป็นเรื่องอะไรได้บ้าง
  • ช่วยแปลข่าวอังกฤษไปไทย ไทยไปอังกฤษครั้งแรก (เป็น draft 1) ก่อนนำไปแปลจริงจัง
  • ช่วยจัดทำการนำเสนอบน Presentation Slide
  • ตรวจสอบไวยากรณ์ (Grammar) ทำได้ทั้งแบบธรรมดา หรือแม้กระทั่งถ้าคำเป็น copywriting มากๆ เช่น เมสเสจของแบรนด์ในสไลด์ หรือ headline ก็สามารถขอตัวเลือกหลายๆ อันเพื่อได้เลือกหยิบมาใช้
  • ช่วยปรับโทนของภาษา
  • ร่างอีเมลสำหรับการสื่อสาร ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่เราใส่เข้าไป
  • ช่วยทำภาพประกอบ (โปรดระมัดระวังเรื่องลิขสิทธิ์)

ช่วยค้นหาข้อมูล

เราทุกคนเริ่มมีตัวเลือกมากกว่าการใช้ Traditional Search Engine

  • ใช้ AI ตัวอื่นอย่าง Gemini, Perplexity, Claude แทนการค้นหาบน Google ทำให้ผลลัพธ์ในการค้นหาออกมาตรงจุดมากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้ภาษาไทยได้ในระดับค่อนข้างดี
  • ช่วยหาข้อมูลสนับสนุนเพราะบางทีค้นหาด้วย Google อย่างเดียวอาจจะใช้เวลามาก AI ช่วยประหยัดเวลาได้มาก
  • ช่วยรวบรวมให้ข้อมูลของแบรนด์ที่อาจจะใหม่มากๆ ในตลาดจนหาไม่ได้ ก็จะไปรวบรวมมาให้

ช่วยระบุอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Identification)

AI ช่วยเราในการค้นหาและประเมินอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมกับแบรนด์ในการทำแคมเปญอินฟลูเอนเซอร์ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น การมีส่วนร่วม (engagement) การเข้าถึง (reach) และความเหมาะสมของเนื้อหากับแบรนด์ แต่จากประสบการณ์ของพวกเรา ยังไงก็ต้องตรวจงานอยู่ดีนะ ถ้าหากว่า Influencer Tool นั้นๆ ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลของอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นๆ ไว้ก็อาจจะพลาดคนที่เหมาะสมไปได้อยู่ดี

AI สามารถเข้ามาช่วยในการตรวจจับวิกฤต (Crisis Detection)

AI สามารถตรวจจับการสนทนาที่อาจนำไปสู่วิกฤตของแบรนด์ล่วงหน้าได้ ทำให้ทีม PR สามารถตอบสนองได้ทันท่วงที และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องเป็นผู้ป้อนข้อมูลว่าจะให้ Media Monitoring Tool นั้นๆ ที่มี AI เป็นส่วนประกอบอยู่ Alert หรือแจ้งเตือนคำๆ ไหนที่เราต้องการ

สุดท้าย ฝากไว้เกี่ยวกับ Mindset เรื่อง AI

นอกจากนี้พวกเราพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านให้มุมมองในเชิงวิธีคิด หรือ Mindset เรื่อง AI ที่น่าสนใจกับเพื่อนๆ วงการ PR เพิ่มเติมอีกครับว่า

  • อย่าปล่อยให้ AI คิดแทนเรา แต่ให้ AI ช่วยให้เราคิดได้มากกว่าเดิม – คุณณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง จากหนังสือ AI / Marketing ของ Dots Academy
  • เวลาคือต้นทุนที่สำคัญสำหรับธุรกิจ หากเรารู้วิธีใช้ AI มาลดทอนขั้นตอนการทำงานลงได้ ย่อมเป็นผลดีสำหรับธุรกิจ คุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
  • Draft and Craft เราพบบทความของคุณโชค วิศวโยธิน ผู้ร่วมแต่งหนังสือ ‘ChatGPT: AI ปฏิวัติโลก’ ระบุเอาไว้ใน Facebook ของเขาว่า เราไม่อาจเชื่อถือผลลัพธ์ของ AI ได้มากนัก เราจำเป็นต้องตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้มา และใช้เพียงเป็นแบบร่าง แทนที่จะเป็นเนื้อหาจริงหรือผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ซึ่งหมายความว่าแม้ว่าจะสามารถใช้เพื่อสร้างแนวคิดและเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังควรได้รับการตรวจทานและปรับปรุงโดยมนุษย์เพื่อให้แน่ใจว่ามีความถูกต้อง ชัดเจน และสอดคล้องกัน
    • Draft นำมันมาสร้างงานเวอร์ชันร่าง ซึ่งคุณหรือสมาชิกในทีมจะปรับแต่งและแก้ไขได้ ประโยชน์ของแนวทางนี้คือช่วยประหยัดเวลาอย่างมหาศาลและเพิ่มประสิทธิภาพโดยไม่สูญเสียคุณภาพ
    • Craft เมื่อได้แบบร่างกลับมาแล้ว ก็ถึงเวลาไปสู่ขั้นตอนการ Craft ที่ใช้ความชำนาญและละเอียดละออมากขึ้น สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและปรับแต่งผลลัพธ์เพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้อง สอดคล้องกัน และตรงตามเป้าประสงค์ของเรา โดยอาจเพิ่มเอกลักษณ์ สไตล์การเขียน และบุคลิกภาพของคุณเองลงในเนื้อหา ตลอดจนการปรับปรุงหรือแก้ไขที่จำเป็น กระบวนการนี้มีความสำคัญต่อผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายมีคุณภาพสูงและตรงตามความต้องการและความคาดหวังของคุณ ซึ่งแสดงออกถึงศักยภาพที่แท้จริงของคุณด้วย

และทั้งหมดนี้ก็คือ Use Case ที่พวกเราใช้ AI ในการทำงานจริงๆ ของพวกเรามาแชร์ ถ้าหากว่าเพื่อนๆ ในแวดวง PR. ใครมีไอเดียในการใช้ AI ในงาน PR อย่างไรแชร์กันมาได้นะครับ ทุกคนสามารถติดต่อพวกเรามาทางอีเมลได้เลย หรือถ้าหากคุณชอบบล็อกของพวกเรา คุณสามารถกดสมัครรับข่าวสารของพวกเราด้านล่างนี้ได้เลย ขอบคุณที่อ่านจนจบ!

ผู้ก่อตั้ง Moonshot Digital