“ไอ้ต้าวตอละเก้” “ไอ้ต้าวเจือโจ่ง” “ไอ้ต้าวย้ายาย” ชื่อเหล่านี้คุ้นตาหรือคุ้นหูใครกันบ้าง?

เชื่อว่าบางคนอาจถึงกับต้องร้อง“ งื้อออออออออออ” ให้กับความน่ารักของคอนเทนต์ขายไอ้ต้าวตุ๊กตาเรซิ่น ทั้งสามจากเพจ “ขาย” ที่สร้างสีสันบนโลกโซเชียลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากทั้งสามตัวนี้ ก็ยังมีคอนเทนต์ขายของสุดครีเอทอีกมากมายที่ดึงดูด ทั้งสายตาและเงินในกระเป๋า จนเราอยากค้นเบื้องลึก เบื้องหลัง ที่มาของไอเดียเหล่านี้เลยทีเดียว

และในที่สุด เราก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณโอ” หนุ่มอารมณ์ดี เจ้าของเพจ “ขาย” ผู้เนรมิตการขายของออนไลน์ให้สุดปัง อย่างที่เราได้เห็นกันจากเหล่า “ไอ้ต้าว” และคอนเทนต์ขายของอื่นๆ ที่มีความโดดเด่นของ Storytelling อันเป็นเอกลักษณ์ คารมณ์ออดอ้อนแสนน่ารัก แถมด้วยมุกเรียกเสียงฮา ที่ทำให้ปัจจุบันเพจมีผู้ติดตามเกือบ 40,000 รายในระยะเวลาเพียง 1 ปี

มาดูว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้พูดคุยกันเกือบ 1 ชั่วโมง เราจะได้เคล็ดวิชากลับไปมากแค่ไหน

ร่วมคุ้ยตัวตน ค้นวิชาลับจากเพจ “ขาย” ไปด้วยกัน

คุณโอเปิดบทสนทนาด้วยประโยคที่ว่า “ผมเป็นคนพูดไม่เก่ง” เป็นการแสดงความถ่อมตัวให้เราตายใจ

ก่อนจะเล่าเรื่องราวจุดกำเนิดของ “เพจขาย” ที่น่าสนใจทั้งหมดหนึ่งพารากราฟถ้วน

คุณโอเล่าว่า “ก่อนหน้านี้เปิดเพจออกแบบกราฟิกเพจหนึ่งมาก่อน ซึ่งยอดผู้ติดตามเพจก็มีพอสมควร ประมาณ 1 แสนราย แต่ด้วยความรู้สึกอยากขายของก็เลยคิดจะเอาเพจมาเป็นช่องทางขายของ คิดไปคิดมาแล้วไม่ตรงจุดประสงค์ของเพจ เพราะคนที่ติดตามเขาตามเรื่องกราฟิก ดังนั้นก็เลยตัดสินใจเปิดเพจขายของออนไลน์ดีกว่า

ขายของมือสอง ของถูก มาสักพักก็รู้สึกว่าชื่อเพจยาวเกินไป (ชื่อเพจเดิมชื่อว่า แบ่งกันกินแบ่งกันใช้)

เลยเปลี่ยนเป็นเพจ “ขาย” สั้นๆ

สุดท้ายก็ตัดสินใจปิดเพจกราฟิกเพื่อมาโฟกัสที่เพจนี้ แอบเสียดายอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันคนทำคอนเทนต์กราฟิกเยอะมาก ไม่อยากทำซ้ำกับคนอื่น เราอยากมีตัวตนอย่างอื่นก็เลยตัดสินใจทำเพจขายจริงจังไปเลย”

จากสตอรี่ที่เล่ามาทั้งหมดทำให้สรุปได้ว่า คุณโอมีความตั้งใจที่จะทำเพจขายอย่างแน่วแน่ คิดมาแล้วอย่างดี นอกจากนี้ เขาไม่ใช่คนพูดไม่เก่งอย่างแน่นอน

“ผมเป็นคนแปลกครับ” คุณโอเกริ่นขึ้นมา

เราก็เลยต้องตั้งใจฟังทันที ประโยคนี้ถูกพูดขึ้นเมื่อเราพูดถึงแนวคิดแคปชั่นสุดฮาของเพจขาย มาดูกันหน่อยว่า ที่ว่าแปลกนั้นจะแปลกแค่ไหน

“ผมเป็นคนที่เวลาอยู่กับเพื่อนจะชอบทำตัวเว่อร์เพราะชอบเสพการ์ตูน ตลกคาเฟ่ หรือข่าวที่ค่อนข้างเบาสมอง เวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อน ผมสามารถเป็นได้ทั้งตัวตบ ตัวชง ตัวตีมุก พอเห็นคนรอบข้างมีเสียงหัวเราะหรือยิ้ม ผมก็จะรู้สึกมีความสุข เหมือนได้พลังใจเพราะทุกวันนี้ก็มีเรื่องเครียดเยอะอยู่แล้ว ผมเลยลองเอาอุปนิสัยส่วนตัวนี่แหละ เข้าไปใส่ในสินค้าที่ขายในเพจดู ปรากฏว่าผลตอบรับออกมาดี”

สังเกตดูแล้ว อุปนิสัยของคุณโอเป็นคนคิดบวก ชอบเสพสื่อที่มีความกวน ตลกและเบาสมอง เพจขายที่ถูกสร้างด้วยตัวตนของคุณโอจึงออกมาเป็นแบบที่เราได้เห็นกันดังนั้นสำรวจตัวเองแล้วใส่ความเป็นตัวเองลงไปในคอนเทนต์ที่เรานำเสนอ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์จากแนวคิด วิธีการใช้ภาษา ทัศนคติ หรือองค์ประกอบอื่น ที่มาจากตัวเราแทบทั้งสิ้นมากไปกว่านั้นคือเมื่อใส่ความเป็นตัวเองลงไป เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกดดันว่าวันหนึ่งจะไปต่อไม่ถูกเพราะเรื่องราวทั้งหมดมีวัตถุดิบที่ดีและแตกต่างอยู่แล้ว คือ “ตัวเรา” นั่นเอง

คุณโอพูดมาหนึ่งประโยคที่เรารู้สึกสนใจเป็นพิเศษคือ “คุณต้องมองนิสัยของสินค้าให้ออก” เป็นคำที่ทำให้เราเห็นภาพแนวคิดของคุณโอได้อย่างชัดเจน เมื่อสามารถตีความคาแรกเตอร์ของสินค้าออกมาได้

เราจึงเห็น นกเป็นเบาหวาน ม้าลายที่อยากลดความอ้วน หรือจระเข้ที่ชอบกินชาไข่มุก โลดแล่นอยู่บนเพจขาย นอกจากรูปร่างลักษณะ วิธีการใช้ หรือราคาแล้วคาแรกเตอร์หรือที่คุณโอเรียกว่า “นิสัย” นี่แหละที่จะเป็นตัวกำหนดคอนเทนต์ในการขายสินค้าแต่ละชิ้นคุณโออธิบายว่า “ลองสมมติว่าสินค้านั้นเป็นของแพง ของหรู ถ้าเป็นคนก็จะต้องมีบ้าน มีรถสัก 7 คัน ใส่ชุดราตรีไปเดินตลาด พอเรามองขาด เรื่องราวก็จะตามมาเลยว่าเรากำลังขายสินค้าแบบไหน พอมีเรื่องราวแล้ว ก็ใส่ความตลกเข้าไป  เติมความหยาบลงไปได้นิดหน่อย เช่น กูมึง เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย ให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อนคุยกัน แต่ต้องไม่หยาบคายเกินไป โดยเราจะกำหนดไว้ว่า เป็น 150% 100% 50% หรืออาจจะไม่มีเลย” วิธีการที่น่าลองนำไปใช้เช่นเดียวกันเพราะไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกห่างเหิน

นอกจากนี้ สินค้าที่ขายได้ก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นของแปลกประหลาดเสียทีเดียว ทั้งหมดอยู่ที่การวางแผน แต่สิ่งที่คุณโอยืนยันเลยว่าเป็นสิ่งที่จะไม่ธรรมดาคือ “เรื่องราวของสินค้า”

คุณโอให้ตัวอย่างกับเราว่า “ถ้าขายเสื้อสีดำธรรมดา ก็อาจจะขายว่าเสื้อสีดำเนื้อนุ่ม 150 บาท แต่ถ้าเป็นผมก็จะเล่าว่าเสื้อสีดำใส่แล้วจะไม่เป็นสีขาว เพราะว่าเราเป็นได้แค่พี่น้องเท่านั้นแหละ! คนอ่านก็จะรู้สึกว่าอะไรวะ แล้วก็จะอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกแล้วก็เกิดการบอกต่อ นี่คือพลังของคอนเทนต์”

เมื่อเราถามถึงองค์ประกอบของ  Storytelling ที่ดี คำตอบที่ได้มาจากคุณโอก็คือความรู้เน้นๆ เราสรุปมาให้ทั้งหมด 3 ข้อ จดกันไปได้เลย

ข้อที่ 1 : ทุกองค์ประกอบต้องเกี่ยวข้องกัน
ตัวคอนเทนต์จะต้องเกี่ยวข้องกับสินค้าไปจนถึงภาพ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะต้องบอกว่าสินค้านั้นคืออะไร

มีที่มาเป็นอย่างไร ราคาเท่าไร ทั้งหมดเราอาจจะเล่าเป็นเรื่องในจินตนาการก็ได้ แต่ต้องจบที่ตัวสินค้า

ข้อที่ 2 : เรื่องราวจะต้องกระชับที่สุด
ประโยคที่เล่าต้องไม่ยาวเกินไปเพราะจะทำให้น่าเบื่อ หรือถ้าจะเล่าเรื่องยาว จะต้องคิดมาก่อนอย่างละเอียดว่าจะทำอย่างไรให้คนอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องหาวิธีดึงดูดคนเข้ามาให้ได้

ข้อที่ 3 : ระบุรายละเอียดให้ชัดเจน

เราจะต้องระบุขนาดสินค้า ราคา วิธีการจัดส่งให้ชัดเจน ไม่ควรให้ลูกค้าเข้าไปถามใน Inbox เป็นการให้เกียรติสินค้าและเป็นการแสดงความจริงใจในการขายด้วย

หลังจากนั้นคุณโอก็เสริมถึงความสำคัญของ Storytelling ว่า

“สำหรับผมสามารถทำรูปสินค้าให้มันสวยงามได้แล้วสามารถโพสต์ได้เลย แต่การเล่าเรื่องเป็นการสื่อสารให้สินค้าธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไรให้รู้สึกว่าน่าซื้อ สินค้ามันรอพวกเขาอยู่ Attack แรกที่เขาเห็นคือตัวหนังสือที่อ่าน ซึ่งอาจจะอ่านอยู่พักหนึ่งแล้วกดผ่านไป แต่ถ้าเราทำให้มันน่าอ่าน น่าซื้อต่อ แปลก ดึงดูดให้คนอยู่กับคอนเทนต์ของเรา มันก็จะให้ผลที่ดี เป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

เครื่องยืนยันก็คือ “ไอ้ต้าวตอละเก้” คอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดชิ้นหนึ่งนั่น ซึ่งถูกแชร์ออกไปเกือบสองหมื่นครั้งและมีผู้เข้าถึงกว่าสองล้านคน ลองอ่านดูได้ที่นี่เลย

ไอ้ต้าวตอละเก้ เปงเพื่อนกับจีจี้ จีจี้เป็นจระเข้น้ำจืด ส่วนอีตอละเก้เป็นจระเข้น้ำชาไข่มุก กินวันละ 5แก้ว แดกเยอะ…

โพสต์โดย ขาย เมื่อ วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2020

เนื่องจากเพจครบรอบ 1 ปีแล้วในเดือนกันยายนนี้ เราจึงคุยกันเรื่องเสียงตอบรับและอนาคตของเพจขาย คุณโอบอกกับเราว่า “เพจเป็นตัวเราไปแล้ว มุกต่างๆ ก็เป็นตัวเรา ดังนั้นเราก็ยังสนุกกับการนำเสนอมุกของเราไปเรื่อยๆ”

คุณโอยังเล่าถึงเสียงตอบรับที่เกิดคาดว่า “มี Inbox เข้ามาว่า ไม่ว่าจะเจอเรื่องเครียดอะไร พอเข้ามาดูในเพจแล้วก็มีความสุข หรือ ถึงแม้ไม่เคยซื้อของในเพจแต่เห็นเพจแล้วรู้สึกสบายใจ มันบรรลุวัตถุประสงค์ที่อยากทำให้ทุกคนยิ้ม มีความสุขไปกับการขายของของเรา” ฟังแล้วก็แอบยิ้มตามเหมือนกัน

นอกจากนี้ คุณโอยังมีความฝันที่ต้องการจะมีหน้าร้านให้คนเข้ามาเลือกดูของ ลองจับสินค้า ให้คนจดจำว่าร้านนี้มีของแปลกขาย เราก็หวังให้ฝันของคุณโอเป็นจริงในเร็ววันเช่นกัน

สุดท้ายเราลองถามคุณโอว่า ถ้าต้องขาย “เพจขาย” คุณโอจะตั้งแคปชั่นว่าอย่างไร และนี่คือคำตอบ

“เพจขายไม่ได้แค่ชื่อ เพราะวันนี้ขายเพจ สวัสดีค่ะ” เป็นการจบการสัมภาษณ์ที่คงสไตล์เพจขายได้อย่างตราตรึงทีเดียว

การเล่าเรื่องสินค้าหรือ Storytelling สามารถเปลี่ยนสินค้าธรรมดาให้กลายเป็นของมันต้องมีได้ เพียงจับประเด็นในการเล่าให้เหมาะสมกับสินค้าชิ้นนั้น หากเราลองมองหาจุดแข็ง แล้วใส่ Passion ที่มีเข้าไปในของทุกชิ้นที่ขาย

นอกจากผลตอบรับในแง่ของรายได้แล้ว เราอาจเป็นจุดเริ่มต้นของรอยยิ้มของใครบางคน เช่นเดียวกับ “เพจขาย” ก็เป็นได้