News Avoider (คนหนีข่าว): การเปลี่ยนแปลงในการบริโภคสื่อ

Share on

คุณเคยรู้สึกว่าทุกวันนี้ข่าวสารต่างๆ นานามันถาโถมเข้ามาในชีวิตทำให้รู้สึกหนักอึ้งในใจบ้างไหมครับ? แล้วพอมันหนักเราก็เริ่มรู้สึกไม่อยากจะเสพข่าวสารมากไปกว่านั้น ถ้าหากเป็นเช่นนั้น คุณไม่ได้อยู่คนเดียวแล้วล่ะ เพราะนี่คือเทรนด์ที่เรียกว่า คนหนีข่าว หรือ news avoider นั่นเอง

ใครคือคนหนีข่าว?

คนหนีข่าวคือบุคคลที่เลือกที่จะไม่ติดตามข่าวสารโดยตั้งใจ เนื่องจากรู้สึกเครียด เหนื่อยล้า หรือรู้สึกไม่ดีจากการได้รับข่าวสารที่มีเนื้อหาเชิงลบอย่างต่อเนื่อง การหลีกเลี่ยงนี้ไม่ใช่แค่เพื่อหลีกหนีจากความเครียด แต่ยังเป็นวิธีการรักษาสุขภาพจิตในยุคที่ข่าวสารเข้าถึงตัวเราได้ตลอดเวลา เหล่า news avoiders มักเลือกที่จะหาความสงบจากสิ่งอื่นแทน

แนวโน้มในประเทศไทยและทั่วโลก

จากรายงานของ Reuters Institute Digital News Report 2023 พบว่า 36% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกยอมรับว่าหลีกเลี่ยงข่าวสารในบางครั้งหรือบ่อยครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี 2017

นี่ไม่ได้เป็นเพียงแนวโน้มในระดับโลกเท่านั้น แต่ในประเทศไทยก็เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น Gen Z และ Millennials แนวโน้มของการเป็น news avoider ก็มีความชัดเจนมากขึ้น คนเหล่านี้เปลี่ยนไปเสพเนื้อหาที่สั้น กระชับ และให้ความบันเทิงมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มอย่าง TikTok, Instagram Reels และ YouTube Shorts

นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่าผู้หลีกเลี่ยงข่าวมักมองว่าข่าวสารไม่ช่วยพัฒนาชีวิตของพวกเขาและรู้สึกว่ามันเน้นแต่เรื่องลบมากเกินไป เช่น ข่าวเศรษฐกิจ การเมือง หรือสงคราม ทำให้คนรุ่นใหม่หันไปมองหาเนื้อหาที่ให้แรงบันดาลใจหรือไม่ก็เนื้อหาที่บอกแนวทางแก้ปัญหาที่กำลังติดขัดอยู่

แล้วแบรนด์และสื่อควรปรับตัวอย่างไรกับเรื่องคนหนีข่าว?

  1. เน้นเรื่องราวเชิงบวกและสร้างแรงบันดาลใจ: สร้างเนื้อหาที่ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยดึงดูดกลุ่มผู้ชมที่ต้องการหลีกหนีจากข่าวสารเชิงลบ เช่น สร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับคนที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น เรื่องราวของผู้ประกอบการที่สามารถฟื้นฟูธุรกิจหลังโควิด-19 หรือการริเริ่มโครงการเพื่อชุมชนที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม
  2. ใช้สื่อรูปแบบใหม่: สร้างสรรค์เนื้อหาสำหรับช่องทางที่คนรุ่นใหม่ใช้งาน เช่น วิดีโอสั้นหรืออินโฟกราฟิก ที่เข้าใจง่ายและดึงดูดความสนใจ เช่น ทำวิดีโอสั้น 60 วินาทีเกี่ยวกับวิธีจัดการเงินในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง พร้อมกราฟิกสวยงาม และเผยแพร่บน TikTok หรือ Instagram Reels เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ต้องการคำแนะนำเชิงปฏิบัติ
  3. สร้างความสมดุลระหว่างข่าวหนักและข่าวเบา: การรายงานข่าวสำคัญควรผสมผสานเรื่องราวที่ช่วยให้คนรู้สึกเชื่อมโยงและมีกำลังใจ เช่น รายงานข่าวการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่กระทบชีวิตประชาชน ควบคู่กับการนำเสนอเคล็ดลับง่ายๆ เช่น การปลูกผักในพื้นที่จำกัด หรือเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จจากการลงมือทำเล็กๆ น้อยๆ ที่บ้าน

สรุป

เมื่อคนหนีข่าวหรือ news avoiders กลายเป็นพฤติกรรมที่แพร่หลายมากขึ้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่แบรนด์และสื่อจะต้องปรับกลยุทธ์เนื้อหาให้หลากหลาย ทำให้คนอ่านมีส่วนร่วม และเน้นไปที่การแก้ปัญหา ถ้าทำได้เช่นนั้น แทนที่คนอ่านจะรู้สึกหนักใจ ก็เชื่อเลยว่าคนอ่านและลูกค้าก็จะหันมาชื่นชอบแบรนด์หรือสื่อของเราได้ไม่ยากเลย

แต่อย่างไรก็อย่าตกใจไปนะครับ ข่าวยังคงเป็นสิ่งสำคัญในงาน PR เพราะเป็นการสื่อสารข้อเท็จจริงที่มาจากแบรนด์ แค่เราทดไว้ในใจว่าคนเค้าเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว และเราจะลงมือแก้กันอย่างไร แค่นั้นก็พอ

ที่มา: Reuters Institute

ผู้ก่อตั้ง Moonshot Digital